วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Social Worker : เส้นทางสังคมสงเคราะห์

  • พ.ศ.2422 จัดตั้งองค์การ Conference of Charities เพื่อจัดการกับปัญหาของสังคมอย่างเป็นทางการครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา
  • พ.ศ.2432 เจน แอดดัมส์เริ่มงานที่ Hull House ชิคาโก ถือได้ว่าเป็นต้นแบบแรกๆ ของการสังคมสงเคราะห์กลุ่มชนและการจัดระเบียบชุมชน
  • พ.ศ.2460 แมรี่ ริชมอนด์ (Mary Richmond) เรียบเรียงตำราสังคมสงเคราะห์เล่มแรกชื่อ การวินิจฉัยทางสังคม (Social Diagnosis)
  • พ.ศ.2473 เกรซ คอยล์ (Grace Coyle) เขียนตำราด้านการทำงานสังคมสงเคราะห์กลุ่มชนเป็นคนแรก
  • พ.ศ. 2483 จัดตั้งกรมประชาสงเคราะห์ เพื่อดูแลสวัสดิการของประชาชน
  • พ.ศ.2497 สถาปนาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง  
  • พ.ศ.2498 ก่อตั้งสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Association of Social Workers) 
  • พ.ศ. 2504 ก่อตั้งสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย
  • พ.ศ. 2503 ประชุมการสังคมสงเคราะห์แห่งชาติเป็นครั้งแรกขึ้นที่กรุงเทพมหานคร
  • พ.ศ. 2528 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนางาน สังคมสงเคราะห์แห่งชาติ ให้กำหนดวันที่ 21 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จย่า เป็นวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ
  • พ.ศ.2545 จัดตั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ตาม พรบ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม
  • พ.ศ.2556 พรบ.วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย


เอกสารอ้างอิง
  • กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุลย์. (2553). วิวัฒนาการของความรู้สังคมสงเคราะห์. เอกสารคำสอน วิชา สค.111ปรัชญาสังคมสงเคราะห์และจริยธรรมทางวิชาชีพ ภาค 1/2553. คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • http://www.m-society.go.th/aboutmso.php
  • http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=6ad3470562595e7d
  • http://www.tlcthai.com/education/history-of-thailand/4539.html

วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Dream VS Reality : ความฝัน การทำงาน ความเป็นจริง 1

ความฝัน
ทุกๆคนต่างมีความฝันเป็นของตนเอง บางคนฝันไกล บางคนฝันใกล้ บางคนฝันกลางวันและบางคนฝันลมๆแล้ง แต่ทุกความฝันที่กล่าวมา ล้วนแล้วแต่เป็นความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง

จะมีสักกี่คนที่ได้คนพบและเดินทางไปตามฝันของตนเอง ได้เรียนในสิ่งที่ชอบ ทำงานในสิ่งที่ใช่ นำสิ่งที่เรียนไปประยุกต์หรือเอาไปใช้ในการทำงานอย่างเต็มภาคภูมิ เป็นความโชคดีสำหรับคนๆนั้นที่ได้ค้นพบตัวตนได้เร็ว ในขณะที่บางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนถนัดอะไร หรือชอบอะไร แม้กระทั่งไม่มีความฝันด้วยซ้ำไป น่าเสียดายจริงๆ

"โตขึ้นอยากเป็นอะไร"   คำถามง่ายๆ ติดปากของผู้ใหญ่ แต่เป็นคำถามที่ยิ่งใหญ่สำหรับ ฉัน ในวัยอนุบาลเพราะชั้นไม่รู้จริงๆว่าอยากเป็นอะไร แล้วทำไมต้องอยากเป็นด้วย รอให้โตก่อนแล้วค่อยคิดไม่ได้หรือ "เป็นครูค่ะ" ครูเป็นสิ่งแรกที่ฉันนึกถึง เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดและเป็นคำตอบมาตรฐานที่ใครๆก็ตอบกัน แต่ความจริงแล้วฉันอยากเป็นครูจริงๆหรือ

เมื่อเวลาผ่านไปนับสิบปี จนถึงวัยมัธยมต้น คำถามนี้ก็กลับมาอีกครั้งเมื่อต้องเลือกแผนการเรียนต่อมัธยมปลาย ฉันยิ่งสับสนมากขึ้น เพราะสิ่งที่ยากสำหรับฉันที่สุดคือการสำรวจตัวเองว่าถนัดวิชาอะไร ชอบวิชาไหน ฉันไม่รู้จริงๆ ฉันเรียนได้ทุกวิชาแต่อาจจะดีมากหรือน้อย แต่ก็ต่างกันไม่มาก สุดท้ายก็จบลงด้วยการเลือกสายวิทย์-คณิต เพียงเพราะเหตุผลข้อเดียวคือ สามารถเลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้หลายสายเพียงเท่านั้น



ชีวิตที่ผันผวน
คุณเคยไหม เวลาเดินทางไปจนสุดทางแล้วพบว่าตลอดทางที่คุณเดินมานั้นมันผิด คุณไม่สามารถหันหลังย้อนกลับไปเส้นทางเดิมแล้วเลือกเดินทางใหม่ได้ คุณยังคงต้องเดินหน้าต่อไปและมองหาทางออกอื่น ฉันก็เป็นคนหนึ่งที่มาค้นพบว่าตนไม่ชอบวิชาสายวิทยาศาสตร์เลย ไม่ว่าจะเป็น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ชั้นสามารถทนเรียนได้ และฉันก็คิดว่าฉันผ่านมันมาได้ด้วยดี แต่ถ้าจะให้เรียนต่อทางสายนี้ล่ะก็ไม่ใช่แน่ๆ นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ฉันเรียนรู้ว่าการที่จะค้นพบในสิ่งที่ตนชอบนั้น ยากกว่าการหาในสิ่งที่ไม่ชอบ ณ ตอนนั้นชั้นไม่รู้ว่าชอบหรือถนัดอะไร แต่รู้ว่าไม่ชอบวิชาสายวิทยาศาสตร์ นี่เป็นสิ่งที่ได้จากการเรียนมัธยมปลายมา 3 ปี

ชีวิตที่ต้องเลือก
"เมื่อเรารู้แล้วว่าเราไม่ชอบอะไร เราก็ควรจะเลี่ยงสิ่งนั้น" นี่เป็นสิ่งที่ฉันคิด เมื่อถึงเวลาต้องเดินทางต่อฉันได้ตัดหลายๆเส้นทางออกไปเพียงเพราะมันมีสิ่งที่ฉันไม่ชอบ หลายคนอาจมองว่าฉันเป็นคนขี้ขลาด ไม่พยายามเอาเสียเลย แต่นี่คือสิ่งที่ฉันเลือกแล้ว และเคารพการตัดสินใจของตนเอง ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณพ่อแม่ที่เข้าใจและยอมรับการตัดสินใจของฉัน ถึงแม้จะขัดต่อความต้องการลึกๆของท่านทั้งสองบ้าง แต่ท่านก็ยังคงสนับสนุนฉันอย่างเต็มที่เรื่อยมา 
ในเมื่อไม่เลือกสายวิทยาศาตร์ ดังนั้นทางต่อไปที่ฉันต้องเลือกจึงมีไม่มากนัก แต่ถึงอย่างนั้นฉันก็ยังพอใจกับทางที่เหลืออยู่ดี แม้กระทั่งในตอนนี้ ฉันก็พอใจกับทางที่ฉันเดินอยู่มากทีเดียวกับ "เส้นทางสังคมสงเคราะห์ศาสตร์" เส้นทางที่ฉันเลือกเอง